เรียบเรียงโดย มยุรี ภาคลำเจียก
การบรรจุหีบห่อ (packaging)
มีความหมายว่าแนวความคิดรวมของระบบในการเตรียมสินค้าเพื่อการขนส่ง จัดจำหน่าย เก็บรักษาและการตลาด โดยให้สอดคล้องกับคุณสมบัติของสินค้า รวมทั้งการใช้ต้นทุนที่เหมาะสม
ในยุคปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มีบทบาทต่อชีวิตประจำวัน ของคนเรามากขึ้น การบรรจุหีบห่อจึงได้ทวีความสำคัญยิ่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการบรรจุหีบห่อเป็นปัจจัยที่สำคัญในการนำสินค้าจากแหล่งผลิตสู่มือ ผู้บริโภคในคุณภาพซึ่งเป็นที่ยอมรับ การบรรจุหีบห่อจัดได้ว่าเป็นแขนงวิชาหนึ่งที่ผนวกความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปะ เข้าด้วยกัน มีความสัมพันธ์กับขั้นตอนต่างๆ มากมาย นับตั้งแต่การเตรียมสินค้า การ บรรจุ การลำเลียงและขนส่ง จนถึงการตลาด ศัพท์เทคนิคที่ใช้ในวงการนี้บางคำก็ดูคล้ายคลึงกัน ซึ่งอาจก่อความสับสนได้ วิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนฉบับนี้ จึงขอนำศัพท์ที่สำคัญทางด้านการบรรจุหีบห่อมาบอกเล่าให้ทราบถึงความหมายกัน
มาเริ่มที่คำว่า วิธีการบรรจุ (packing) หมายถึงวิธีการบรรจุสินค้า จะด้วยการห่อหุ้มหรือการใส่ลงในภาชนะปิดใดๆ ก็ได้ หีบห่อ (a pack) หมายถึงวางผลิตภัณฑ์ในภาชนะบรรจุหรือทำให้เป็นมัดหรือเป็นห่อ ภาชนะบรรจุ (a package) หมายถึงหนึ่งหน่วยของผลิตภัณฑ์ซึ่งได้รับการห่อ หรือใส่ลงในภาชนะบรรจุแล้ว นอกจากนั้นยังหมายถึงภาชนะบรรจุที่มีผลิตภัณฑ์บรรจุอยู่ภายในก็ได้ ที่ใส่ของ (container) มี 2 ความหมาย ความหมายแรกคือที่ใส่ของเพื่อใช้ในการเตรียมสินค้าสำหรับการขนส่ง และจัดจำหน่าย ความหมายที่สองคือ ตู้ขนาดใหญ่ ซึ่งนิยมใช้ขนส่งสินค้า ไม่ว่าจะเป็นทางอากาศหรือทางเรือ ตู้นี้สามารถใช้หมุนเวียนได้หลายครั้ง
ภาชนะบรรจุโดยทั่วไปจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือภาชนะบรรจุเพื่อการขนส่ง (transport package, distribution package, shipping container และ outer package) หมายถึง ภาชนะบรรจุชั้นนอกซึ่งใช้เพื่อการขนส่งและเก็บรักษา ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการลำเลียงขนส่ง รวมทั้งช่วยป้องกันสินค้ามิให้เสียหายในระหว่างการขนส่ง อีกประเภทหนึ่งคือ ภาชนะบรรจุเพื่อการขายปลีก (consumer package, retail package, primary package) หมายถึงภาชนะบรรจุหน่วยย่อยที่มีสินค้าอยู่ ผู้บริโภคสามารถสัมผัสได้โดยตรง และใช้เป็นหน่วยของการขายปลีก
ภาชนะบรรจุประเภทนี้ ควรมี คุณสมบัติในการรักษาคุณภาพ ของสินค้า ตลอดจนแจ้งข้อมูลของสินค้าได้ครบถ้วนและช่วยดึงดูดผู้บริโภคได้
ในการพัฒนาหรือเลือกใช้ภาชนะบรรจุสำหรับสินค้าชนิดหนึ่งๆ นั้น จำเป็นต้องมีการออกแบบภาชนะบรรจุให้ถูกต้อง กล่าวคือต้องมีความ สอดคล้องกับสินค้า สภาพการขนส่ง และการตลาด การออกแบบดังกล่าวสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกได้แก่ การออกแบบด้าน โครงสร้าง (structural design) หมายถึงเทคนิคในการเลือกใช้ชนิดของวัสดุ การกำหนดขนาด รูปแบบ วิธีการบรรจุ และส่วนประกอบต่างๆ เพื่อให้ภาชนะบรรจุนั้นสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ประเภท ที่สองเรียกว่า การออกแบบด้านกราฟฟิก (graphic design หรือ visual design) หมายถึงการออกแบบที่ให้ผลต่อการส่งเสริมการขาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณภาพของการพิมพ์ การตบแต่งด้านสีสัน รูปภาพ รูปร่าง เพื่อให้ภาชนะบรรจุนั้นมีความสวยงาม รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้านั้นได้ด้วย