
ไม้ยางพาราเป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบลุ่มแม่น้ำอะเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ เป็นไม้อยู่ในสกุล (Genus) Hevea และวงศ์ (Family) Euphorbiaceae ซึ่งวงศ์นี้มีอยู่ประมาณ 12 ชนิด ลำต้นมีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ชนิดที่ให้น้ำยางมากและดีที่สุดคือ Havea Braziliensis ซึ่งเป็นที่นิยมปลูกในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง การปลูกยางพาราในประเทศไทยเริ่มขึ้นระหว่างปี 2442-2444 ที่จังหวัดตรัง โดย พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ต่อมาได้แพร่หลายไปทั่วพื้นที่ภาคใต้ ถาคตะวันออก และล่าสุดประมาณ 7-8ปี ที่ผ่านมาได้มีการปลูกบ้างแล้วในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วัตถุประสงค์หลักของการปลูกยางพาราก็เพื่อกรีดน้ำยางไปทำยางแผ่นเพื่อจำหน่าย เมื่อต้นยางอายุมากขึ้น ทำให้น้ำยางน้อยลงจึงทำการตัดโค่นและเผาทิ้งเพื่อปลูกใหม่ แต่ปัจจุบันไม้จากป่ามีปริมาณลดน้อยลง และมีพระราชบัญญัติปิดป่าทำให้ไม้ยางพาราได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะการนำไปแปรรูปเพื่อทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในการส่งออก ทำให้ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง จากการสำรวจพบว่า ไม้ยางพารา 1 ไร่ สามารถนำมาแปรรูปได้เฉลี่ย 20.64 ลบ.เมตร ทั้งนี้แล้วแต่เทคนิคการเลื่อยและลักษณะของไม้ที่โรงงานเฟอร์นิเจอร์ต้องการ
ไม้ยางพาราเป็นไม้ที่มีลักษณะลำต้นกลม สูงปานกลาง เปลือกสีเทาดำ มองทางด้านหน้าตัดจะเห็นท่อน้ำยาง (Latex Vessel) ต่อกันเป็นวงตามแนวด้านสัมผัส (tangential) เนื้อไม้มีสีขาวอมเหลืองเมื่อสด และจะมีสีขาวจางเมื่อแห้ง เนื้อหยาบปานกลาง เสี้ยนตรง วงรอบปีไม่เห็นชัด ไม่มีแกน เรย์ (Ray) มีขนาดเล็กมากและมีสีอ่อนกว่าเนื้อไม้ พอร์ (Pore) เป็นแบบ radial multiple ซึ่งการเรียงตัวจะตัดกันระหว่างเรย์ กับ metatracheal parenchyma ทำให้มองดูเนื้อไม้คล้ายตาข่าย มีความหนาแน่นพื้นฐาน (Basic density) 0.56-0.65 กรัม/ลบ.ซม. [6] สำหรับที่ความชื้น 15% มีความหนาแน่นประมาณ 0.67-0.74 กรัม/ลบ.ซม. โดยมีค่าใกล้เคียงกับไม้ Soft Maple [7] ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพันธุ์ของยางพารานั้นๆ สำหรับขนาดของเส้นใยไม้ยางพาราประมาณ 1.26 มม. โดยมีความกว้างประมาณ 0.021 มม. คุณสมบัติทางเคมีของไม้ยางพาราสดโดยคิดเป็นร้อยละของน้ำหนักอบแห้งประกอบด้วย สารแทรก (Extractives) 13.28% (สำหรับสารแทรกแบ่งเป็นสารที่สามารถละลายในน้ำรวม 10.36% และละลายได้ในสารละลายรวม 23.24%) เซลลูโลส (Cellulose) 50.63% (Holocellulose 78.72%, Alpha cellulose 49.41%) เพนโตซาน (Pentosan) 17.17% ลิกนิน (Lignin) 18.06% และเถ้า (Ash) 0.86% บางรายงาน [3] พบว่าคุณสมบัติทางเคมีของไม้ยางพาราแตกต่างไปจากนี้ โดยเฉพาะสัดส่วนของสารแทรก (5.59%) ซึ่งเข้าใจว่าขึ้นอยู่กับพันธุ์ของยางพาราและวิธีการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี สารแทรกแม้เป็นองค์ประกอบเพียงส่วนน้อยแต่จะมีบทบาทสำคัญคือ การมีปริมาณสารแทรกชนิดต่างๆอยู่มากน้อยไม่เท่ากันจะทำให้ไม้นั้นมีสีคล้ำหรือมีสีแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังทำให้มีความทนทานต่อการทำลายของแมลงและเห็ดราแตกต่างกันด้วย การมีปริมาณสารแทรกอยู่มากนั้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้ไม้มีการคงรูปดีขึ้น การหดตัวเมื่อแห้งจะน้อยกว่าปกติและหลังจากแห้งแล้วจะมีมีการเปลี่ยนแปลงขนาดหรือรูปร่างน้อย แม้ว่าจะถูกนำไปใช้งานในสภาวะอากาศที่มีความรุนแรง